ข่าวสาร/กิจกรรม

สผ. และ GIZ ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561) สผ. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น ในภาพรวมด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Climate Finance) และร่วมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 5 ภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน การดำเนินการด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDC

การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนทั้งจากภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ภายในประเทศ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(Thai – German Climate Programme: TGCP)

สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภาระกิจในการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศของแต่ละภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนทั้งจากภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงความต้องการทางการเงินและช่องว่างทางการเงิน (Financial needs and gaps) ของแต่ละภาคส่วนเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมาย NDC นั้น สผ. จึงได้ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในการดำเนินการจัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)” ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Climate Programme: TGCP) ซึ่งครอบคลุมด้านนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และครอบคลุม 4 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ภาคพลังงาน 2) ภาคการจัดการของเสีย 3) ภาคเกษตรกรรม และ 4) ภาคการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อดำเนินการศึกษาภาพรวมการเงินเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) อาทิ แหล่งเงินทุนภายในประเทศรวมถึงงบประมาณแผ่นดิน เงินกองทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนและระหว่างประเทศทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้ ที่ใช้ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานผู้รับเงินทุน รูปแบบการสนับสนุนทางการเงิน อาทิเช่น เงินให้เปล่า เงินกู้ การค้ำประกัน (guarantee) เป็นต้น ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความต้องการทางการเงินและช่องว่างทางการเงินของแต่ละภาคส่วนเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมาย NDC พร้อมทั้งจัดทำกลยุทธ์ที่จะใช้ในการผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะช่วยเสริมสร้างกลไกและสถาบันที่เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภายใต้แผนการดำเนินงานของโครงการศึกษาดังกล่าว สผ. จึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้กำหนดจัด “การประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นในภาพรวมด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Climate Finance) และร่วมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง” ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 เพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจร่วมกันในโครงการศึกษาดังกล่าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้แทนจาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ภาคพลังงาน 2) ภาคการจัดการของเสีย 3) ภาคเกษตรกรรม 4) ภาคการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 5) ภาคขนส่ง รวมถึงร่วมหารือและเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อนึ่ง ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (the Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เปิดเผยข้อมูลในรายงานฉบับล่าสุด ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้เกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก เช่น ภาวะแล้งจัด ไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ ภายในปี พ.ศ. 2573 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมหากทุกประเทศทั่วโลกไม่ร่วมมือกันในการดำเนินทุกมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่านี้ ซึ่งการเงินเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันให้การดำเนินการดังกล่าวลุล่วงตามเป้าหมายที่ทุกประเทศตั้งร่วมกันไว้

รูปภาพโดย GIZ/Denpong Namnau